วางแผนชีวิต
วางแผนชีวิต

ผู้สูงวัยนั้น ย่อมต้องเคยผ่านการวางแผนการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องการเรียน การทำงาน การแต่งงาน การสร้างครอบครัว การสร้างความมั่นคง การสร้างหลักประกันให้ตนเอง แต่จะมีสักกี่คนที่พร้อมเผชิญหน้ากับ การวางแผนชีวิตในบั้นปลาย การวางแผนให้ระยะสุดท้ายของชีวิต เป็นไปตามที่ตนเองปรารถนา มักจะไม่มีใครเคยคิดอย่างจริงจัง และต้องกลายเป็นลูกหลานต้องตัดสินใจแทน จะดีกว่าไหมถ้าเราวางแผนชีวิตส่วนนี้ด้วยตนเอง

กลุ่มอาการกตัญญูเฉียบพลัน

กลุ่มอาการกตัญญูเฉียบพลัน เป็นคำอย่างไม่เป็นทางการที่บุคลากรทางการแพทย์นิยมใช้บรรยายสถานการณ์ที่ญาติที่อยู่ห่างไกลมาที่โรงพยาบาลในขณะที่ผู้ป่วยสูงอายุกำลังเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยที่เป็นรุนแรงถึงขั้นมีโอกาสเสียชีวิตหรือกำลังจะเสียชีวิต และขอร้องหรือบังคับให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ให้การรักษาทุกรูปแบบไม่ว่าจะมีราคาสูงหรือก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานเพียงใดก็ตาม เพื่อช่วยชีวิตหรือยืดชีวิตผู้ป่วยให้ได้ หรืออีกรูปแบบหนึ่งอาจตำหนิแนวทางการรักษาเดิม หรือขอให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการรักษาใหม่

บุคลากรทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกานิยมเรียกปรากฏการณ์เดียวกันนี้ว่า กลุ่มอาการลูกสาวจากแคลิฟอร์เนีย (อังกฤษ: Daughter from California syndrome) ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ในแคลิฟอร์เนียจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ลูกสาวจากนิวยอร์ก"

Reference วิกิพีเดีย กลุ่มอาการกตัญญูเฉียบพลัน

ทุกครอบครัวของผู้สูงวัย ย่อมมีบุคคลที่ใกล้ชิด อาจเป็นภรรยา สามี ลูกชาย ลูกสาว ลูกคนโต ลูกคนเล็ก หลาน พี่ น้อง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจดูแลสุขภาพ และเป็นผู้กระทำการแทนผู้สูงวัยที่เจ็บป่วยจนไม่สามารถสื่อสารกับแพทย์ได้ เราจึงพบปัญหา “กตัญญูเฉียบพลัน” ที่มามีผลให้การวางแผนการรักษาต้องเปลี่ยนไปมา เพราะความไม่ตัดสินใจในทางเดียวกัน หลายครอบครัวนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้งของทายาท และที่สำคัญการตัดสินใจนั้นมักจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้ป่วยที่เป็นเจ้าของชีวิตตัวเองต้องการอย่างแท้จริง หนทางหนึ่งที่จะตัดปัญหานี้ คือ สิ่งที่เรียกว่า พินัยกรรมชีวิต

การทำเอกสารพินัยกรรมชีวิต

พินัยกรรมชีวิต หมายถึงหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยื้อการตายในวาระสุดท้ายของตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ตามมาตรา 12 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

 

  • พินัยกรรมชีวิตก็คือเอกสารหรือหนังสือที่เขียนแสดงความ ปรารถนาหรือเป็นการสื่อสารกับบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถึงความต้องการในระยะสุดท้ายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกวิธีการรักษาในระยะสุดท้าย การจัดงานศพ การเลือกวิธีการรักษาในระยะสุดท้าย

  • หากไม่ได้ทำเป็นหนังสือ หรือเอกสารก็ควรจะมีกระบวนการพูดคุยถึงเจตนาที่เปิดเผยให้บรรดาญาติมิตรของผู้ป่วยได้รับรู้ มีการสื่อสารระหว่างกัน ระหว่างผู้ป่วยกับญาติผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยหมดความกังวล และ จากไปอย่างสงบได้ ร่วมทั้งให้ญาติ บุคลากรทางการแพทย์ ได้ปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้ป่วยเองได้

  • กรณีที่ไม่ได้มีการตัดสินใจทำพินัยกรรมชีวิต แนะนำว่าให้พิจารณาเลือกผู้ที่สามารถตัดสินใจแทนผู้ป่วย โดยอาจบันทึกและแจ้งญาติคนอื่นๆให้รับทราบ ว่าเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะท้าย ให้ทางแพทย์ พยาบาลสอบถามญาติผู้นี้ให้ตัดสินใจแทนผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยควรสื่อสารในความต้องการของตนเอง หรือพิจารณาเลือกญาติ ที่ผู้ป่วยคิดว่าญาติผู้นี้ มีความเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยได้

  • การทำพินัยกรรมชีวิต ทางโรงพยาบาลจะให้ผู้ป่วยเก็บเอกสารจริงไว้กับตนเอง และโรงพยาบาลเก็บสำเนาเอกสารไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น เราจะแนะนำให้ทางญาติแสดงเอกสารพินัยกรรมชีวิตกับทางแพทย์ผู้รักษา

  • เอกสารพินัยกรรมชีวิตเมื่อเขียนแล้ว ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยเมื่อเปลี่ยนให้แจ้งให้ทางครอบครัวรับทราบและนำสำเนาเอกสารล่าสุดมอบให้ทางโรงพยาบาลทราบ

  • ผู้ป่วยสามารถสอบถามแพทย์ผู้รักษา หรือทีมการรักษาประคับประคองเดี่ยวกับการทำพินัยกรรมชีวิตได้ โดยสามารถทำตั้งแต่ไม่มีอาการ หรือระหว่างได้รับการรักษา หรือเมื่ออาการโรคกำเริบได้

ขอขอบคุณข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี https://www.rama.mahidol.ac.th/cancer_center/th/palliative-care-living-will

พินัยกรรมชีวิต